- หน้าแรก
- ข่าวประชาสัมพันธ์
- รายละเอียดข่าว
สศท.2 เผยแนวทางการบริหารจัดการฟางข้าว วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สร้างมูลค่า ในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด
ข่าวที่ 142/2566 วันที่ 27 ธันวาคม 2566
สศท.2 เผยแนวทางการบริหารจัดการฟางข้าว วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร สร้างมูลค่า ในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด
นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ฟางข้าว” เป็นเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เกิดจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวของเกษตรกร ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมาก โดยเกษตรกรในแต่ละพื้นที่จะมีวิธีการบริหารจัดการฟางข้าวที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการจัดการที่ดีและเหมาะสม เกษตรกรจึงนิยมเลือกใช้วิธีเผาทำลายฟางข้าว เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ซึ่งนับเป็นการสูญเสียมูลค่าในการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว และสร้างมลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อน และสุขภาพของประชาชนสศท.2 ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานตามแนวทาง BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าและช่วยลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยได้ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ และน่าน เพื่อให้ทราบถึงรูปแบบการจัดการโซ่อุปทานของการนำวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ และแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าว พบว่า ปี 2566 ในพื้นที่ 5 จังหวัด มีปริมาณฟางข้าวรวม1.87 ล้านตัน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 197 ราย แบ่งเป็น เกษตรกรสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่สินค้าข้าวที่มีการจัดซื้อเครื่องอัดฟางข้าว ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ปี 2564 ที่ผลิตข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2565/66 และ ข้าวนาปรังปี 2565 จำนวน 147 ราย , ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวม จำนวน 25 ราย และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จำนวน 25 ราย ได้มีการบริหารจัดการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าวของพื้นที่ 5 จังหวัด ดังนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ส่วนใหญ่จะนำฟางข้าวจำหน่ายให้แก่กลุ่มแปลงใหญ่ ร้อยละ 54.97 และจำหน่ายให้แก่ผู้รวบรวมฟางข้าวเอกชน ร้อยละ 16.87 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 28.16 จะจ้างกลุ่มแปลงใหญ่ที่ตนเองเป็นสมาชิก ดำเนินการอัดเป็นฟางก้อนให้ เพื่อจำหน่ายและใช้ประโยชน์ในฟาร์มของตนเอง โดยเกษตรกรที่จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 510.77 บาท/ไร่/รอบการผลิต กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว แบ่งเป็น กลุ่มแปลงใหญ่ข้าว จะรับซื้อฟางข้าวจากเกษตรกรสมาชิก โดยจะดำเนินการอัดฟางก้อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 8 - 10 บาท/ก้อน หลังจากนั้นจะนำฟางอัดก้อนไปจัดเก็บไว้ที่โกดังของกลุ่ม เพื่อรอจำหน่ายไปยังผู้ใช้ประโยชน์ต่อไป และผู้รวบรวมฟางข้าวเอกชน จะรับซื้อฟางข้าวแบบเหมาไร่ ราคาตั้งแต่ 20 - 100 บาท/ไร่ และรับซื้อโดยการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรตามจำนวนก้อนฟางที่อัดได้ ราคาตั้งแต่ 2 - 10 บาท/ก้อน เพื่อรอจำหน่ายไปยังผู้ใช้ประโยชน์ต่อไป และ กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ส่วนใหญ่จะนำฟางอัดก้อนไปเลี้ยงปศุสัตว์ โดยใช้ร่วมกับพืชอาหารสัตว์ หรืออาหาร TMR สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารสัตว์ โคเนื้อเฉลี่ย 8.59 บาท/ตัว/วัน (ลดลงร้อยละ 29) และโคนมเฉลี่ย 49.50 บาท/ตัว/วัน (ลดลงร้อยละ 69) และมีบางส่วนที่นำไปใช้เป็นวัสดุคลุมแปลงพืชผักทดแทนพลาสติก สามารถลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 480 บาท/ไร่/รอบการผลิต (ลดลงร้อยละ 53) และเป็นวัสดุ ในการเพาะเห็ดทดแทนขี้เลื่อย สามารถลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 9 บาท/ก้อน/ปี (ลดลงร้อยละ 52)
ด้านแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการฟางข้าวในพื้นที่ 5 จังหวัด ควรส่งเสริมให้มีการพัฒนาช่องทางการเชื่อมโยงความต้องการของตลาดระหว่างเกษตรกร ผู้รวบรวม และผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการให้มากขึ้น มีการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายฟางข้าวทางออนไลน์ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้ประโยชน์สามารถเข้าถึงสินค้าฟางข้าวได้สะดวกและรวดเร็ว และให้ความสำคัญกับการนำเศษวัสดุเหลือใช้ฟางข้าวมาใช้ประโยชน์มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เสริม อีกทั้งสามารถช่วยลดการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร นอกจากนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์จากฟางข้าวให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง มีการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่มีความไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้ รวมถึงเพื่อให้การบริหารจัดการเพื่อเพิ่มคุณภาพฟางข้าวให้มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงเรือน/โกดัง ที่ใช้ในการจัดเก็บฟางข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการเผาเศษซากพืชหรือวัชพืชและเศษวัสดุการเกษตร โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สังกัด กษ. บูรณาการร่วมกับอาสาสมัครเกษตรจากทุกหน่วยงาน ลงพื้นที่ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดเผาทำลาย รวมถึงให้ความรู้และคำแนะนำในการบริหารจัดการฟางข้าว ทั้งนี้ หากท่านสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร 0 5532 2650 และ 0 5532 2658 หรืออีเมล์ zone2@oae.go.th
***********************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก